“น้ำมันรำข้าว ก็ต้องทำมาจากรำข้าวนะสิ” หลายคนคงจะตอบแบบนั้น เราลองมาติดตามจากจุดเริ่มต้นของน้ำมันรำข้าวกันที่...เมล็ดข้าว
เมื่อเรานำข้าวเปลือก (Rice Paddy) ไปผ่านกระบวนการสีข้าว ส่วนนอกสุดของข้าวเปลือกหรือแกลบ (Rice Husk) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 20 % จะถูกสีออกไป ทำให้ได้ข้าวกล้อง (Brown Rice) ที่มีผิวสีน้ำตาลอ่อน เป็นที่ทราบกันดีว่าข้าวกล้อง มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าข้าวขาว (White Rice) จึงมีการรณรงค์ให้บริโภคข้าวกล้องกันมากขึ้น ต่อมากระบวนการขัดสีเปลี่ยนข้าวกล้องให้เป็นข้าวขาวนั่นเองที่ทำให้เราได้ รำข้าว (Rice Bran) ผงสีน้ำตาลอ่อนแยกออกมา และที่สำคัญผงรำข้าวสีน้ำตาลอ่อนที่ได้จากการสีข้าวกล้องนี้จะมี จมูกข้าว (Rice Germ) ซึ่งเป็นส่วนที่จะงอกเป็นต้นอ่อนต่อไปรวมอยู่ด้วยถึง 10 %
คุณค่าทางโภชนาการที่ดีของข้าวกล้องที่มีอยู่ใน “รำข้าวและจมูกข้าว” กลายเป็น “ของดีที่ถูกมองข้าม” มาเนิ่นนาน ในอดีตรำข้าวจะถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์และทำปุ๋ยเป็นหลัก เพราะความไม่รู้ว่าในรำข้าวนั้นมีวิตามินและสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการอยู่มากมาย จนเมื่อความรู้ทางด้านโภชนาการมาผสานกับเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมและทันสมัย จึงเกิดการใช้ประโยชน์จากรำข้าวและจมูกข้าวในการแปรรูปเป็น “น้ำมันรำข้าว” ซึ่งยังคงคุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญ และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าวให้มากยิ่งขึ้น องค์ประกอบโดยประมาณของข้าวเปลือกนั้น จะประกอบไปด้วยแกลบ 20% รำข้าว (รวมจมูกข้าว) 10 % ข้าวขาว 70 % ในกระบวนการขัดสีปัจจุบันข้าวขาวเต็มเมล็ดที่สีได้อาจมีเพียง 55-60 % เท่านั้น นอกนั้นจะเป็น ปลายข้าว ข้าวท่อน และสิ่งเจือปนอื่นๆ |